ความต้องการบัณฑิตสาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว

การเกษตร คือ การผลิตพืช หรือสัตว์ภายใต้การจัดการของมนุษย์ ผลผลิตที่ได้ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเมล็ด ผล ใบ ดอก เส้นใย เนื้อ นม ไข่ หนัง ขน จะถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการใช้สอย หรือบริโภคหลังจากนั้น โดยธรรมชาติผลผลิตจากการเกษตรโดยเฉพาะจากพืชจะมีลักษณะเป็นฤดูกาล แต่ความต้องการใช้หรือบริโภคมีตลอดทั้งปี ดังนั้นผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวจึงต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อให้คงคุณภาพเดิม หรือได้รับการแปรรูปไปเพื่อให้อยู่ได้นานโดยคุณค่าทางอาหารไม่เปลี่ยนแปลง

การจัดการผลผลิตทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวต้องการองค์ความรู้ที่แตกต่างไปจากความรู้ในการผลิต บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาทางด้านนี้ จึงมีความรู้ในการจัดการกับผลผลิต เพื่อลดการสูญเสียและยืดอายุการเก็บรักษาหรืออายุการวางจำหน่ายให้ได้นาน ความรู้เหล่านี้มีประโยชน์ต่อผู้ขาย ผู้ส่งออก หรือผู้แปรรูป เนื่องจากการแปรรูปที่ดีจำเป็นต้องมีวัตถุดิบที่มีคุณภาพเก็บรักษาไว้เพื่อป้อนโรงงาน

สาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศไทยมากนัก ส่วนมากจะรู้จักกันในลักษณะสาขาย่อยของสาขาพืชสวน แต่ในความเป็นจริงงานทางด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว ครอบคลุมทั้งด้านพืชไร่ วิศวกรรมเกษตร ตลอดจนเศรษฐศาสตร์เกษตร รวมถึงทางด้านสัตว์ศาสตร์และประมงอีกด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง งานด้านการผลิตทางการเกษตรทุกชนิดย่อมต้องการความรู้หลังการผลิตหรือหลังการเก็บเกี่ยวของงานนั้นๆเสมอ

ปัจจุบันสถานวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดสอนระดับปริญญาโทและเอกสาขาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว ด้านพืชไร่/พืชสวน (ยังไม่เปิดสอนวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวทางด้านสัตว์และประมง) มาแล้วกว่าทศวรรษ และกำลังขยายตัวออกไปอย่างสม่ำเสมอ

จากการสำรวจของเอมอรและคณะ (2546)* ในองค์กรภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย (สำรวจจากหน่วยงานภาครัฐ 340 และ หน่วยงานเอกชน 101 แห่ง) พบว่ามีความต้องการบัณฑิตสาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวสูงถึง 2,236 คน โดยภาครัฐมีความต้องการบัณฑิตระดับปริญญาโทด้านพืชไร่ 729 คน ด้านพืชสวน 806 คน ขณะที่ภาคเอกชนมีความต้องการ 99 คน และ 93 คน ตามลำดับ

ในระดับปริญญาเอก ภาครัฐมีความต้องการด้านพืชไร่ 212 คน ด้านพืชสวน 275 คน ส่วนภาคเอกชนมีความต้องการ 11 คน ทั้งด้านพืชไร่และพืชสวน

จากตัวเลขข้างต้น จะเห็นว่าบัณฑิตในสาขาวิชานี้ทั้งระดับปริญญาโทและเอกยังเป็นที่ต้องการอีกมาก ทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยมีนโยบายเน้นการส่งออกผลิตผลเกษตร และการเป็นครัวของโลก บุคคลากรทางด้านนี้จึงนับเป็นกุญแจสำคัญส่วนหนึ่งในความสำเร็จตามเป้าหมายนี้


เอมอร อังสุรัตน์, จุฬารัตน์ วัฒนะ, สุจิตรา กุลพันธ์ และวาสิณี เกียรติวัชรกำจร.2546 รายงานผลการวิจัยเรื่อง ความต้องการบัณฑิตวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวขององค์กรภาครัฐและเอกชนของประเทศไทย. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน.