การเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์

เมล็ดพันธุ์พืช (Seed) คือ เมล็ดพืชที่มีชีวิตซึ่งเมื่อนำไปปลูก หรือนำไปขยายพันธุ์แล้วจะได้ต้นที่เจริญงอกงามตรงตามพันธุกรรมของพืชนั้น

ประเภทของเมล็ดพันธุ์

1. เมล็ดพันธุ์คัด (Breeder Seed)
คือ เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตขึ้นโดยนักปรับปรุงพันธุ์ซึ่งต้องทำการคัดเลือกเฉพาะเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณสมบัติตามที่นักปรับปรุงพันธุ์กำหนดคิดค้นขึ้นมา ภายใต้การควบคุม หรือตรวจพันธุ์อย่างถี่ถ้วน เมล็ดพันธุ์คัดจะนำไปปลูกเป็นพันธุ์หลักในปีต่อไป
2. เมล็ดพันธุ์หลัก (Foundation Seed)
คือ เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์คัดภายใต้คำแนะนำและวิธีการของนักปรับปรุงพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตรหรือสถาบันวิชาการฯ เพื่อรักษาความบริสุทธิ์และลักษณะประจำพันธุ์ของพืชนั้น ๆ เมล็ดพันธุ์หลักที่ได้นำไปปลูกเป็นพันธุ์ขยายต่อไป
3. เมล็ดพันธุ์ขยาย (Registered Seed)
คือ เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์หลัก โดยเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้จัดทำแปลงขยายพันธุ์ ภายใต้การควบคุมดูแลและให้คำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการและเจ้าหน้าที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ขยายพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร
4. เมล็ดพันธุ์จำหน่าย(Certified Seed)
คือ เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์ขยาย โดยเกษตรกรแปลงขยายพันธุ์ ด้วยการปฏิบัติตามวิธีการที่ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ ของศูนย์ขยายพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายให้แก่เกษตรกรทั่วไป
เมล็ดก็คล้ายกับสิ่งมีชีวิตทั่วไปที่มีการเจริญเติบโตและมีการเสื่อมเป็นธรรมชาติ แต่การเสื่อมของเมล็ดพันธุ์ มีกฎเกณฑ์ รูปแบบ และเงื่อนไขพิเศษบางประการ ซึ่งแตกต่างจากสิ่งอื่นๆ ยิ่งกว่านั้นคำว่า “เสื่อม” ที่ใช้กับเมล็ดพันธุ์ยังต่างกับที่ใช้เมล็ดพืชทั่วๆ ไปด้วย

ความหมายของการเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์
การเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ หมายถึง การที่เมล็ดพันธุ์สูญเสียศักยภาพ หรือความแข็งแรงอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในทางไม่ดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมล็ดจนกระทั่งเมล็ดพันธุ์ตายไปในที่สุด

กฎเกณฑ์ทางธรรมชาติของการเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์
กระบวนการเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ มีกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ ดังนี้
1.  ต้องเกิดขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ (inexorable) กล่าวคือ การเสื่อมจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน จะช้าหรือเร็วเท่านั้น
2.  ไม่อาจผันกลับได้ (irreversible) กล่าวคือ เมื่อเมล็ดพันธุ์ได้เสื่อมคุณภาพลงไปแล้ว ( แม้เพียงเล็กน้อย ) ก็ไม่อาจทำให้กลับดีดังเดิมได้
3.  การเสื่อมมีน้อยที่สุดเมื่อเมล็ดพันธุ์สุกแก่ใหม่ๆ
4.  อัตราเร็วในการเสื่อมแตกต่างกันตามชนิดพืช หรือพืชชนิดเดียวกันแต่ต่างพันธุ์กัน
5.  อัตราเร็วในการเสื่อมแตกต่างกันไปในระหว่างรุ่น หรือล็อตของเมล็ดพันธุ์ชนิด หรือพันธุ์เดียวกัน
6.  อัตราเร็วในการเสื่อมหรือระดับความรุนแรงของการเสื่อมจะแตกต่างกันไปในแต่ละเมล็ดภายในล็อตเดียว
ธรรมชาติประการหนึ่งของการเสื่อมคุณภาพของเมล็ด คือ การที่เป็นกระบวนการที่ไม่อาจผันกลับได้ กล่าวคือ เมื่อเสื่อมแล้ว ก็เสื่อมเลย ไม่อาจทำให้ดีดังเดิมได้ ในขณะที่รอยแผลที่เกิดขึ้นกับคน หรือสัตว์และต้นไม้อาจจะหายไปได้ในเวลาต่อมา แต่ความเสื่อมที่เกิดขึ้นกับเมล็ดมิอาจหายไปหรือลดลงได้

การเสื่อมคุณภาพเป็นสิ่งที่ไม่อาจป้องกันได้ แต่เราสามารถชะลออัตราเร็วในการเสื่อมคุณภาพได้ โดยการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในสภาพที่เหมาะสมรวมทั้งการปฏิบัติต่อเมล็ดพันธุ์เป็นอย่างดีตั้งแต่ก่อนที่จะนำเข้าเก็บด้วย

ปัจจัยที่มีผลต่อการเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์

ความสามารถในการเก็บรักษาก็ดี อัตราเร็วในการเสื่อมคุณภาพก็ดี เป็นลักษณะเฉพาะตัวของเมล็ดพันธุ์พืชแต่ละชนิด เช่นเดียวกัน ความสูง ความทนทาน ความไวแสง และลักษณะอื่นๆ ของพืชหรือสัตว์ โดยทั่วไปเมล็ดพันธุ์พืชประเภทแป้ง เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี จะเสื่อมคุณภาพช้า หรือเก็บรักษาได้ง่ายกว่าเมล็ดพันธุ์พืชน้ำมัน เช่น ถั่วเหลือง และถั่วลิสง แต่ไม่อาจพูดได้อย่างเต็มที่ว่าเมล็ดพันธุ์เสื่อมเร็ว เพราะมีน้ำมันมากเสมอไป เพราะเมล็ดพันธุ์ฝ้ายซึ่งมีน้ำมันสูงกว่าเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง สามารถเก็บได้นานกว่าเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ยิ่งกว่านั้นเมล็ดพืชชนิดเดียวกันแต่คนละพันธุ์ ยังอาจมีอัตราการเสื่อมไม่เหมือนกัน เช่น เมล็ดพันธุ์ ถั่วเหลือง สจ .4 และ สจ .5 สามารถเก็บรักษาได้นานกว่าเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง เชียงใหม่ 60 ดังนั้น จึงอาจจะกล่าวได้ว่า เมล็ดต่างชนิดหรือต่างพันธุ์กันเสื่อมคุณภาพเร็วช้าไม่เท่ากัน เพราะมีพันธุกรรมต่างกัน

เมล็ดพันธุ์พันธุ์เดียวกันแต่คนละล็อตอาจจะเสื่อมเร็วไม่เท่ากัน เพราะล็อตหนึ่งอาจยังไม่มีการเสื่อม แต่อีกล็อตหนึ่งอาจจะเสื่อมอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเก็บไว้ต่อไปล็อตที่เสื่อมอยู่ก่อนแล้ว ย่อมจะทรุดลงเร็วกว่าอีกล็อตหนึ่ง การที่เมล็ดพันธุ์ทั้งสอง ล็อต มีความเสื่อมต่างกันตั้งแต่ก่อนการเก็บรักษา ก็อาจเป็นเพราะหลายๆ สาเหตุด้วยกัน เช่น ปลูกต่างที่กัน เก็บเกี่ยวต่างเวลากัน ใช้เครื่องนวดหรือนวดด้วยวิธีต่างกัน หรือล็อตหนึ่งถูกฝนก่อนเก็บเกี่ยว แต่อีกล็อตหนึ่งไม่ถูกฝน เป็นต้น

เมล็ดพันธุ์แต่ละเมล็ดในล็อตหรือถุงเดียวกัน หรือแม้แต่ในหนึ่งกำมือเดียวกัน มิได้เหมือนกันหมดทุกเมล็ด แต่มีความแตกต่างในหลายๆ ประการ รวมทั้งระดับความเสื่อม และอัตราเร็วในการเสื่อมของเมล็ด ทำนองเดียวกับความแตกต่างที่มีอยู่ในประชากรของมนุษย์ พืช และสัตว์ ที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน สาเหตุที่เมล็ดแต่ละเมล็ดมีความเสื่อมไม่เท่ากัน อาจเป็นเพราะถูกเก็บเกี่ยวมาเมื่อสุกแก่ไม่เท่ากัน ถูกแรงกระทบจากการนวดไม่เท่ากัน บางเมล็ดอาจจะถูกฝนหรือหยดน้ำ บางเมล็ดอาจจะถูกความร้อน บางเมล็ดอาจจะถูกเหยียบหรือทับ บางเมล็ดอาจถูกแมลงกัดกิน หรือเชื้อราเข้าทำลาย เมื่อสิ่งเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นกับเมล็ดพันธุ์ทุกเมล็ด เหมือนกันหมด แต่เกิดขึ้นมากบ้างน้อยบ้างก็ทำให้เมล็ดพันธุ์ซึ่งปกติก็ไม่ได้เป็นพิมพ์เดียวกันอยู่แล้ว มีความแตกต่างกันในระดับความเสื่อมที่เกิดขึ้นและอัตราเร็วที่จะเสื่อมต่อไป

อัตราเร็วในการเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้ คือ

1.  ปัจจัยในตัวเมล็ดพันธุ์เอง เช่น

 

  • ชนิดและพันธุ์ องค์ประกอบทางเคมี และโครงสร้างต่างๆ ซึ่งอาจกล่าวเป็นเรื่องของพันธุกรรม
  • ประวัติความเป็นมา เช่น การถูกกระทบกระเทือนในการเก็บเกี่ยว นวด ตาก และขนส่ง ซึ่งอาจกล่าวว่าเป็นความรุนแรงของความเสื่อมที่ได้เกิดขึ้นก่อนแล้ว
  • ระดับความลึกหรือความหนักแน่นของการพักตัว
    2.  ปัจจัยภายนอก เช่น 
  • ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศความชื้นเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด สำหรับการเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณความชื้นที่มีอยู่ในเมล็ดพันธุ์โดยตรง หรือความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ ซึ่งเป็นตัวกำหนดความชื้นของเมล็ดอีกทอดหนึ่งก็ตาม เมล็ดพันธุ์ที่มีความชื้นสูงจะมีการหายใจหรือเผาพลาญอาหารในอัตราสูง ทำให้เกิดความร้อนและความชื้นเพิ่มขึ้น ความร้อนที่สะสมมากขึ้นจะทำให้เมล็ดพันธุ์ยิ่งเสื่อมเร็วขึ้น ทั้งความร้อนและความชื้น นอกจากจะเป็นอันตรายต่อเมล็ดพันธุ์โดยตรงแล้ว ยังช่วยให้โรคราและแมลงเจริญเติบโตและทำลายเมล็ดพันธุ์ได้เร็วขึ้นด้วย
    ความชื้นมีความสำคัญต่อเมล็ดพันธุ์ คือทุกๆ 1% ที่ความชื้นในเมล็ดพันธุ์ลดลง อายุการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์นั้นจะนานขึ้นอีกเท่าตัว ซึ่งหมายความว่า ถ้าเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองที่มีความชื้น 9% สามารถเก็บรักษาได้นาน 6 เดือน เมล็ดพันธุ์ ถั่วเหลืองดังกล่าวที่มีความชื้น 8% จะสามารถเก็บได้นาน 12 เดือน และเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองที่มีความชื้น 7% จะสามารถเก็บได้นาน 24 เดือน ดังนี้เป็นต้น
  • อุณหภูมิของอากาศรอบๆ เมล็ดพันธุ์อุณหภูมิในโรงเก็บที่ลดลง ทุกๆ 10 0F อายุการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์จะเพิ่มขึ้น อีก 1 เท่าตัว ซึ่งหมายความว่า หากเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองไว้ที่อุณหภูมิ 700F ได้นาน 6 เดือน การเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 60 0F และ 500F ก็จะเก็บรักษาไว้ได้นาน 12 เดือน และ 24 เดือน ตามลำดับดังนี้เป็นต้น
    อิทธิพลของความชื้นและอุณหภูมินั้น ชดเชยและส่งเสริมซึ่งกันและกัน กล่าวคือเมล็ดพันธุ์ที่มีความชื้นต่ำสามารถทนทานต่ออุณหภูมิสูงได้ แต่เมื่อเมล็ดพันธุ์มีความชื้นสูงก็จะยิ่งได้รับอันตรายจากอุณหภูมิสูงได้ง่าย เมล็ดพันธุ์ที่มีความชื้นต่ำจะยิ่งเสื่อมช้าลงไปอีกหากเก็บในที่อุณหภูมิต่ำด้วย
  • ศัตรูเมล็ด เช่น โรครา แมลง และหนู เป็นต้นที่มา:
    กรมส่งเสริมการเกษตร http://www.doae.go.th/seed/seed_1.htm#top
    ประนอม ศรัยสวัสดิ์. 2547. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์. ข่าวสารเมล็ดพันธุ์พืชปีที่ 10-11. http://www.seed.or.th/SeedNews/